วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550


ลพบุรี

ลพบุรีเป็นเมืองแห่งความหลากหลายและต่อเนื่องทางวัฒนธรรมยาวนานกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ลพบุรีอยู่ใต้อำนาจมอญและขอมจนกระทั่งในตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 คนไทยจึงเริ่มมีอำนาจขึ้นในดินแดนแถบนี้ ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง กล่าวคือพระเจ้าอู่ทองได้โปรดให้พระราเมศวร ราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จมาครองเมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 1893 พระราเมศวรโปรดให้สร้างป้อม ขุดคู และสร้างกำแพงเมืองอย่างมั่นคง เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคตใน พ.ศ. 1912 พระราเมศวรต้องถวายราชบัลลังก์ให้แก่พระปิตุลาของพระองค์ ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์พระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 1 ส่วนพระราเมศวรครองเมืองลพบุรีสืบต่อไป จนถึง พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 สวรรคต พระราเมศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง
หลังจากนั้นมาเมืองลพบุรีได้ลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงครั้งใหญ่ สืบเนื่องมาจากการคุกคามของชนชาติฮอลันดาที่ติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยานั้นไม่สู้ปลอดภัยจากการปิดล้อมระดมยิงของข้าศึกหากเกิดสงคราม จึงได้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่สองขึ้น เพราะลพบุรีมีลักษณะทางยุทธศาสตร์เหมาะสม ในการสร้างลพบุรีขึ้นใหม่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้รับความช่วยเหลือจากช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน และได้สร้างพระราชวังและป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างแข็งแรง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ และโปรดให้ทูตและชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพระองค์ที่เมืองนี้หลายครั้ง
สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลต่อๆ มา ก็ไม่ได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้อีก จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2406 โปรดฯ ให้บูรณะเมืองลพบุรี ซ่อมกำแพง ป้อม และประตูพระราชวังที่ชำรุดทรุดโทรม และสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประทับ และพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ลพบุรีจึงแปรสภาพเป็นเมืองสำคัญอีกวาระหนึ่ง
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้สร้างเมืองลพบุรีใหม่อันเป็นเมืองทหารอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ มีอาณาเขตกว้างขวาง ส่วนเมืองเก่านั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งในปัจจุบันนี้ ลพบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 153 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 6,586.67 ตารางกิโลเมตร

พระราชวังสนมจันทร์

พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัด นครปฐมห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไม่ไกลนัก มีเนื้อที่ประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวา เป็นพระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นบนบริเวณที่คาดว่าเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า เนินปราสาท เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และเมื่อบ้านเมืองถึงยามวิกฤต
พระราชวังใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี โดยมี หลวงพิทักษ์ มานพ(น้อย ศิลปี)
ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนยศเป็นพระยาวิศุกรรม ศิลปประสิทธิ์ เป็นแม่งาน และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2450เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า "พระราชวังสนามจันทร์" ตามชื่อสระน้ำโบราณหน้า
โบสถ์พราหมณ์ (ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) สระน้ำจันทร์ หรือ สระบัว
ในปัจจุบัน พระราชวังสนามจันทร์อยู่ในความดูแลของสำนักพระนราชวัง
โดยเมื่อวันที่
1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมีสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธาน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยนายนาวิน ขันธหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมและมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ลิขิต กาญจนาภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย ศิลปากร วิทยาเขต พระราชวังสนามจันทร์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์แก่สำนักพระราชวัง